การทำเด็กหลอดแก้วแบบ อิ๊กซี่ ICSI กับ IVF ต่างกันอย่างไร ?

การทำเด็กหลอดแก้วทั้งสองแบบนี้ ในกระบวนการส่วนแรกจะไม่ต่างกัน จะมีการกระตุ้นไข่ เก็บไข่ เก็บสเปิร์มเหมือนกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ เทคโนโลยีในการช่วยการปฏิสนธิ จนได้ตัวอ่อนที่สมบูรณ์นั่นเอง

การทำเด็กหลอดแก้วแบบ IVF
         เป็นวิธีการทำเด็กหลอดแก้วแบบเก่า โดยนักวิทย์ฯจะทำการคัดไข่ที่สมบูรณ์จากฝ่ายหญิงและคัดอสุจิที่แข็งแรงของฝ่ายชายมาผสมกัน โดยจะปล่อยให้สเปิร์มเลือกเข้าไปเจาะไข่เองตามธรรมชาติ เมื่อเกิดการปฏิสนธิที่ภายนอกแล้วจึงนำไข่ที่ผสมจนเป็นตัวอ่อน นำกลับเข้าไปฝังที่โพรงมดลูกเพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ต่อไป
ซึ่งวิธี IVF มีข้อเสียคือ ถ้าสเปิร์มไม่แข็งแรงจะไม่สามารถเจาะเข้าไปในไข่ได้ หรือการปล่อยให้สเปิร์มเจาะเข้าไปในไข่เอง มีโอกาสที่สเปิร์มตัวนั้นอาจจะเป็นตัวที่มีความผิดปกติหรือไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้ไม่สามารถเกิดการปฏิสนธิ หรือปฏิสนธิสำเร็จแต่ตัวอ่อนไม่เจริญเติบโต

การทำเด็กหลอดแก้วแบบ อิ๊กซี่ ICSI
          วิธีนี้เป็นการทำเด็กหลอดแก้วแบบ (เจาะจง) เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ได้รับความนิยมจากทั่วโลก ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ไขข้อเสียของ IVF ช่วยเพิ่มโอกาสในการแก้ปัญหาภาวะการมีบุตรยากในเคสที่มีโอกาสสำเร็จต่ำให้สูงขึ้นได้ เช่น ในผู้ชายที่เป็นหมัน น้ำเชื้อน้อย สเปิร์มไม่แข็งแรง ผู้หญิงที่ท่อนำไข่ตีบ ตัน อายุมากแล้ว (35 ปีขึ้น) หรือ มีปัญหาด้านสุขภาพที่ส่งผลให้มีบุตรยาก
โดยขั้นตอนการทำ นักวิทย์ฯจะคัดไข่ 1 ใบ และอสุจิ 1 ตัว ที่แข็งแรงและสมบูรณ์ที่สุดมาผสมกัน ด้วยการใช้เข็มเจาะและฉีดอสุจิเข้าไปที่เนื้อไข่โดยตรง จากนั้นจะทำการเลี้ยงตัวอ่อนให้ได้ยาวนานที่สุดคือ 6 วัน หรือ Day6 แล้วจึงนำตัวอ่อนกลับเข้าไปฝังที่โพรงมดลูกเพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ต่อไป โดยในขั้นตอนการนำตัวอ่อนฝั่งไปที่โพรงมดลูก แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยว่าควรย้ายตัวอ่อนรอบสด หรือรอบแช่แข็ง
          หากจะทำการแช่แข็งตัวอ่อน ส่วนมากจะแช่แข็งตัวอ่อนใน Day 5 – 6 แต่บางเคสก็สามารถแช่แข็งที่ Day 2 – 3 ได้เช่นกัน (ขึ้นอยู่กับคุณภาพตัวอ่อน)
          ส่วนการใส่ตัวอ่อนรอบสด จะใส่หลังจากที่ทำอิ๊กซี่ (ICSI) ใน Day5 – 6 แต่ถ้าคุณภาพของตัวอ่อนไม่ค่อยดี จะใส่ที่ Day3 และหากจะทำให้การรักษาภาวะการมีบุตรยากให้มีโอกาสสำเร็จสูงและแน่ใจได้ว่าตัวอ่อนที่ได้นั้น จะเป็นตัวที่สมบูรณ์จริงๆ “ควรต้องตรวจ โครโมโซม NGS” ร่วมด้วย
 
การตรวจโครโมโซม NGS  นักวิทย์ฯ จะตัดเซลล์ (Biopsy) ของตัวอ่อนใน Day 5-6 ไปบางส่วน เพื่อนำเซลล์ที่ตัดไปเข้าห้องปฏิบัติการทางแล็บโครโมโซมโดยเฉพาะ เพื่อตรวจวิเคราะห์หาความผิดปกติของโครโมโซมต่อไป ระยะเวลาการออกผลอยู่ที่ 7-14 วัน ซึ่งตัวอ่อนหลังการตัดเซลล์ไป ก็จะถูกแช่แข็งไว้ก่อนเพื่อรอผลออก (ถ้าไม่แช่แข็งตัวอ่อนจะตายเพราะไม่สามารถเลี้ยงได้นานกว่า 6 วัน)
เมื่อผลออกมาเป็นที่น่าพอใจหรือได้ตัวอ่อนที่ไม่มีความผิดปกติ ก็จะนำตัวอ่อนมาละลาย และใส่เข้าสู่โพรงมดลูกผู้หญิงในรอบเดือนถัดไปอีกที และรอตรวจผลการตั้งครรภ์ต่อไปการทำเด็กหลอดแก้วแบบนี้ เป็นวิธีการรักษาภาวะการมีบุตรยากที่มีความแม่นยำมากขึ้นและมีอัตราความสำเร็จมากกว่าวิธีอื่น
ข้อมูลอ้างอิง เพิ่มเติม:Worldwide IVF Fertility center(https://worldwideivf.com/about-icsi/ivf-vs-icsi/ )